งานเทศกาลต่างๆ

ประเพณีสงกรานต์





เทศกาลสงกรานต์นี้ชาวล้านนาเรียกว่า ปเวณีปีใหม่หรือปาเวณีปีใหม่ (อ่าน"ป๋าเวนีปี๋ใหม่") ในช่วงเทศกาลนี้ซึ่งกินเวลา ๕ วัน ประชาชนจะหยุดงานทั้งสิ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระนี้ทั้งในแง่ศาสนาและพิธีกรรมโดยตลอด เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนานั้น จะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็น วันสังกรานต์ล่อง หรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ตามประกาศของทางการเสมอไป (แต่ปัจจุบันนี้จะยึดตามประกาศของทางการ) เทศกาลนี้จะมีวันต่าง ๆ และมีพิธีกรรมและการละเล่นหลายอย่างที่ เกี่ยวข้องกัน ดังนี้

วันสังกรานต์ล่อง คือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งออกเสียงแบบล้านนาว่า "สัง-ขาน" นี้คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีนจะย่างเข้าสู่ราศีเมษ ตามความเชื่อแบบล้านนากล่าวกันว่าในตอนเช้ามืดของวันนี้ "ปู่สังกรานต์" หรือ "ย่าสังกรานต์"จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดงสยายผมล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสังกรานต์นี้จะนำเอาสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนาตามตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืนจุดประทัดหรือทำให้เกิดเสียงดังต่าง ๆ นัยว่าเป็น "การไล่สังกรานต์" และถือกันว่าปืนที่ใช้ยิงขับปู่หรือย่าสังกรานต์นั้นจะมีความขลังมาก ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันนี้จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด มีการซักเสื้อผ้า เก็บกวาดและเผาขยะมูลฝอยต่าง ๆ มีการดำหัวหรือสระผมเป็นกรณีพิเศษ คือเมื่อสระผมแล้วก็จะต้องเงยหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้และทัดดอกไม้ที่เป็นนามของปีของแต่ละปี นุ่งห่มเป็นเสื้อผ้าใหม่ ฝ่ายพ่อบ้านก็จะนำเอาพระพุทธรูปพระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังต่างๆ มาชำระหรือสรงด้วยน้ำอบน้ำหอมหรือ เปลี่ยนดอกไม้บูชาพระในแจกันใหม่ด้วย

ในวันสังกรานต์ล่องนี้ ตามประเพณีโบราณแล้ว กษัตริย์แห่งล้านนาจะต้องทำพิธีสรงน้ำตามทิศที่ โหรหลวงคำณวนไว้ และจะลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำเช่น ในแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง เป็นต้น ในวันนี้บางท่านก็จะเรียกลูกหลานมาพร้อมกล่าวคำมงคลแล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะตัวเองหรือลูกหลานทุกคน และบางท่านจะให้ ลูกหลานเอาฟักเขียวหรือฟักทองไปปลูกและใช้มูลควายตากแห้งเป็นปุ๋ยโดยบอกเด็กว่าปู่ย่าสังกรานต์พึงใจที่ได้เห็น ลูกหลานปลูกฟัก บ้างว่า ผู้ที่ปลูกฟักนั้นก็จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดด้วย สำหรับในเมืองใหญ่เช่นเชียงใหม่ นิยมจัดขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองเช่นพระพุทธสิหิงค์และพระเสตังคมณี ไปตามถนนสายต่าง ๆ แล้วนำไปประดิษฐานไว้เพื่อให้ประชาชนได้เข้านมัสการสรงน้ำพระพุทธรูปดังกล่าวด้วย
วันเนา วันเนาว์ หรือ วันเน่า ในแง่ของโหราศาสตร์แล้ว วันนี้ควรจะเรียกว่า วันเนา เพราะเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศีมีนและราศีเมษ อันเป็นวันที่ถัดจากวันสังกรานต์ล่อง แต่ในการออกเสียงแล้วทั่วไปมักเรียก"วันเน่า" ทำให้เกิดความคิดที่ห้ามการกระทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล โดยเฉพาะห้ามการด่าทอทะเลาะวิวาทกัน กล่าวกันว่าผู้ใดที่ด่าทอผู้อื่นในวันนี้แล้ว ปากของผู้นั้นจะเน่า และหากวิวาทกันในวันนี้ บุคคลผู้นั้นจะอัปมงคลไปตลอดปี ส่วนผู้ประสงค์จะปลูกเรือนด้วยไม้ไผ่ ก็ให้รีบตัดในวันนี้ เพราะเชื่อกันว่าไม้จะ"เน่า"และไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว วันเนานี้จะเป็นวันเตรียมงาน ชาวบ้านจะพากันไปซื้อของเพื่อกินและใช้ในวันพญาวัน เมื่อถึงตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด กองรวมกันทำเป็น การขนทรายเข้าวัดนี้ถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าของตนออกจากวัดซึ่งเสมอกับได้ลักของจากวัด วันเนานี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันดา เพราะเป็นวันที่ ดา หรือจัดเตรียม สิ่งของต่างๆ จะใช้ทำบุญนั่นเอง

วันพญาวัน เป็นวันเถลิงศกเริ่มต้นจุลศักราชใหม่ วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาดัง ตั้งแต่เวลา เช้าตรู่ผู้คนจะนำเอาสำรับอาหารหวานคาวต่าง ๆ ไปทำบุญถวายพระตามวัด ทานขันเข้า (อ่าน"ตานขันเข้า") เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วด้วย บางคนอาจนำสำรับอาหารไปมอบให้แก่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่า ทานขันเข้าฅนเถ้าฅนแก่
จากนั้นจะนำทุงหรือธงซึ่งได้เตรียมไว้ไปปักบนเจดีย์ทราย ทั้งนี้ มีคติว่าการทานทุง นั้นมีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นสามารถพ้นจากขุมนรกได้ จากนั้นก็มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ในวันพญาวันนี้ บางท่านอาจจะเตรียมไม้ง่ามไปถวายสำหรับค้ำต้นโพ ถือคติว่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการจะช่วยกันค้ำจุนพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป และจะมีการสรงน้ำทั้งพระพุทธรูป สถูปเจดีย์รวมทั้งสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ด้วย ในตอนบ่ายจะมีการไป ดำหัวหรือไปคารวะผู้เฒ่าผู้แก่บิดามารดา ญาติพี่น้องผู้อาวุโสหรือผู้มีบุญคุณหรือผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาและผู้ใหญ่ก็จะให้พร

วันปากปี ในวันนี้ ศรัทธาที่ไม่ไปที่วัดก็ จะไปเตรียมสถานที่ เพื่อทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของ เสาใจบ้านหรือสะดือบ้านบ้างเรียก แปลงบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บริเวณหอเสื้อบ้าน (อารักษ์หมู่บ้าน) ที่วัดตอนเช้าจะมีการทำพิธีปูชาเข้าลดเคราะห์ ปูชาเข้ายกเคราะห์ ปูชาเคราะห์ปีใหม่ ปูชาสระพระเคราะห์ เป็นต้น เชื่อว่าผู้ที่บูชาดังว่าในวันปากปี จะได้รับความคุ้มครองไปตลอดปี และชาวบ้านบางคนจะพากันไปดำหัววัด คือไปทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ด้วย
วันในลำดับที่ ๕ ของเทศกาลนี้คือ วันปากเดือน ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของเดือนใหม่ ในวันนี้นิยมมีการส่งเคราะห์ต่าง ๆ ตามแบบที่นิยมนับถือกันมาแต่โบราณ การส่งเคราะห์ที่ว่านี้มีหลายอย่าง เช่น ส่งชน, ส่งแถน, ส่งเคราะห์นรา เป็นต้น ส่วนการดำหัวนั้นก็จะดำเนินต่อไปจนครบตามต้องการ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้มีการละเล่นที่สนุกสนานหลายอย่าง เช่น เล่นหมากบ้าหรือการเล่นสะบ้า เล่นหมากคอนหรือการเล่นโยนลูกช่วง เป็นต้น แต่การเล่นที่สนุกที่สุกและมีเพียงช่วงเดียวในรอบปี คือ เล่นหดน้ำ ปีใหม่ หรือการเล่นรดน้ำในเทศกาลขึ้นปีใหม่นั่นเอง



ประเพณี ปอยส่างลอง 4 - 6 เมษายน 2552
คำว่า "ส่างลอง" เป็นภาษาไทยใหญ่ เกิดจากคำผสมระหว่าง "ส่าง" แปลว่า สามเณร และคำว่า "ลอง" แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์หรือเทพบุตร หรือผู้เป็นหน่อเนื้อของผู้วิเศษ คำเต็มคือ "อลอง" เมื่อผสมกับคำว่า "ส่าง" เสียงอะที่อยู่หน้ากร่อนหายไป สันนิษฐานว่าเป็นภาษาพม่าที่นำมาใช้ภาษาไทยใหญ่
อีกนัยหนึ่งคำว่า "ส่างลอง" เทียบได้กับคำว่า "ลูกแก้ว" ในภาษาถิ่นล้านนา ประเพณีทำบุญส่างลอง เรียกว่า ปอยส่างลอง คำว่า "ปอย" คือ งานอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ในการบรรพชา หรือ บวชลูกแก้วของชาวล้านนา
ส่วนประวัติความเป็นมามีกล่าวไว้หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ ในสมัยอดีตกาล ณ เมืองหนึ่งมีพระมหากษัตริย์ มีโอรสทรงพระนามว่า "จิตตะมังชา" ครั้นโอรสมีอายุได้ 10 ชันษา พระบิดาก็มุ่งหวังจะให้โอรสได้ผนวชเป็นสามเณร แต่พระองค์ไม่ทรงบังคับแต่อย่างใด ความนี้ล่วงรู้ไปถึง "จิตตมังชาโอรส" จึงได้ตัดสินใจขอผนวชเอง ทำให้พระราชบิดาทรงปลาบปลื้มมาก รับสั่งให้มีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ตลอด 7 วัน 7 คืน ได้แห่ส่างลองจิตตะมังไปรอบเมือง และไปหาพระพุทธเจ้า
สามเณรจิตตมังชาผนวชอยู่กับพระพุทธเจ้าเป็นเวลานาน ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแตกฉานและได้สำแดงบุญบารมีเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว เช่นครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสร็จไปเยี่ยมพระประยูรญาติ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ พระนางปชาบดีโคตมีได้ทอผ้าจีวรด้วยเส้นทองคำ 2 ผืน ถวายแด่ พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับผืนเดียวที่เหลือไม่มีสาวกองค์อื่นกล้ารับ แต่สามเณรจิตตมังชากล้ารับทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เป็นอันมากว่า สามเณรจิตตะมังชายังเยาว์วัยเกินไปไม่สมควรรับ ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงจัดให้สาวกมาประ
ชุมกัน แล้วพระองค์ทรงโยนบาตรขึ้นไปในอากาศ พร้อมกับตรัสว่า สาวกองค์ใดจะมีความสามารถรับบาตรนี้ได้ ปรากฏว่าผู้ที่สามารถรับบาตรนี้ได้คือ สามเณรจิตตะมังชาได้เหาะไปรับบาตรมาถวายพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นว่า เหมาะที่จะรับจีวรด้ายทองคำ และเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า สมัยพุทธกาลที่เมืองแห่งหนึ่งมีงานปอยส่างลอง โดยคหบดีเศรษฐีผู้มีเงินทองหลายคนร่วมกันจัดงาน แต่มีครอบครัวหนึ่งกำพร้าพ่อเหลือแม่กับลูกชายที่มีรูปร่างอัปลักษณ์น่าเกลียดไม่มีใครอยากคบด้วย ลูกชายอยากเป็นส่างลองมาก แต่แม่ยากจนไม่สามารถหาเงินมาจัดงาน "ปอยส่างลอง" ได้ พร้อมทั้งถูกพูดจาถากถางตลอดว่า "ยากจนแล้วอย่างเป็นส่างลอง" ยิ่งใกล้ถึงวันรับส่างลอง เสียฆ้องกลองบ้านเจ้าภาพทำให้ทั้งแม่และลูกเป็นทุกข์มาก ครั้นหมดปัญญาจะหาเงินมาร่วมจัดงานด้วยเรื่องนี้ร้อนไปถึง "บุนสาง" หรือพระพรหม ผู้มีหูตาทิพย์ เมื่อทราบจึงมีความคิดที่จะช่วยทั้งสอง จึงแปลงร่างเป็นชายแก่มอบเงินทองให้ แต่ก็ติดขัดที่ลูกชายรูปร่างอัปลักษณ์ พระพรหมก็บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงจะช่วยเอง
จนถึงวันรับส่างลอง เมื่อแต่งชุดส่างลองแล้ว พระพรหมก็เนรมิตรูปร่างให้ใหม่กลายเป็นส่างลองที่สวยงาม แต่งคล้ายเจ้าชายมีเครื่องประดับสวยงาม เพื่อแห่ส่างลองไปรอบๆ เมือง ผู้คนพบเห็นต่างก็ประทับใจ กล่าวชมความสวยงามและน่ารักของส่างลองเป็นอันมาก จวบจนเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็อยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป
นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การจัดงาน "ปอยส่างลอง" จะได้อานิสงส์มาก ถ้าได้บวชลูกตนเองเป็นสามเณรได้อานิสงส์ 7 กัลป์ถ้าบวชลูกคนอื่นได้อานิสงส์ 4 กัลป์ ถ้าได้อุปสมบทลูกตัวเองเป็นพระภิกษุได้อานิสงส์ถึง 12 กัลป์ อุปสมบทลูกคนอื่นเป็นพระภิกษุได้อานิสงส์ 8 กัลป์ ดังนั้นชาวไทยใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ต้องพยายามจัดงานปอยส่างลองให้ได้
งานปอยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยึดถือปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีแล้ว เช่นในคราวที่สมเด็จเจ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จไปตรวจราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ พ.ศ. 2472 ได้บันทึกไว้ในรายงานความว่า
"ในวันที่ขึ้นพระธาตุดอยกองมูนี้ ที่เชิงดอยมีแห่ครัวทานตามแบบพายัพ พญาพิศาลฮ่องสอนกิจ พ่อเมือง นำหน้าขบวนแล้วก็ถึงมหรสพแล้วถึงมณฑปทำด้วยกระดาษมีคานหาม ต่อนั้นไปมีผู้หญิงงามถือธูปเทียนตกแต่งด้วยเครื่องกระดาษ ประมาณ 40 คน มีสำรับคาวหวาน คนหาบซึ่งมีเด็กซึ่งบวชเป็นสามเณรในวันนั้น ขี่คอคนต่างม้า ยึดผ้าโพกศีรษะคนนั้นๆ เป็นบังเหียนเต้นทำนองม้า มีกลดทองแบบพม่าทั้งสิ้น ข้างขวาคนละ 2 คัน รวม 10 คัน มีนางงามโปรยข้าวตอกซัดเตจ้านาค เจ้านาคแต่งตัวคล้ายละครพม่า พิธีนี้ตามคำเมืองเรียกว่า "บวชลูกแก้ว หรือ ปอยส่างลอง" ตามภาษาไทยใหญ่"



งานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง

จัดขึ้นประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี ณ บริเวณหมู่บ้านหัตถกรรมบ่อสร้าง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
การจัดขบวนแห่วัฒนธรรมรถประดับร่ม การประกวดหัตถกรรม การแข่งขันวาดพัด วาดร่มของนักท่องเที่ยว การประกวดธิดาร่วมบ่อสร้าง “แม่ญิงงามขี่รถถีบกางจ้อง” การกินข้าวแลงและขันโตก
การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หาดูได้ยาก "Street Fair" คือ ใช้พื้นที่ของหมู่บ้านบ่อสร้างซึ่งขนานกันตลอดแนวถนน ตั้งแต่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านจนถึงท้ายหมู่บ้านระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสถานที่จัดงาน ตกแต่งบ้านและร้านค้าต่างๆ เป็นแบบล้านนาไทย และใช้ร่มสัญลักษณ์ของหมู่บ้านเป็นส่วนประกอบสำคัญในการตกแต่ง พร้อมทั้งประดับประทีบโคมไฟแบบพื้นเมือง
นอกจากนี้ยังมีการแสดงและจำหน่ายร่มกระดาษสาและสินค้าหัตถกรรมของผู้ประกอบการในหมู่บ้านบ่อสร้างที่ผลิตและจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์



"ประเพณีเดือนยี่เป็ง "

“สืบฮีต สานฮอย ต๋ามโคมผ่อกอย ยี่เป็งล้านนา”
"ประเพณีเดือนยี่เป็ง" คือประเพณีสำคัญซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนยี่ ตรงกับเดือนพฤศจิกายน ขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน เมื่อถึงคืนดังกล่าวชาวล้านนาก็จะนำกระถางพร้อมเครื่องสักการะบูชาด้วยธูปเทียนลอยตามน้ำเพื่อให้ถึงญาติพี่น้องและบรรพบุรุษที่ล่วงลับพร้อมเรียกพิธีกรรมนี้ว่า "ลอยโขมดหรือลอยไฟ" โดยก่อนจะถึงวันยี่เป็ง 2-3 วัน ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอารามปัดกวาดวิหารศาลาให้งดงาม เพื่อจัดเตรียมสถานที่สำหรับ "การตั้งธรรมหลวง"


สำหรัับกิจกรมที่สำคัญของประเพณีเดือนยี่เป็ง ประกอบไปด้วย "การตกแต่งซุ้มประตูป่า" คือการนำเอาก้านมะพร้าว ต้นกล้วย ต้นอ้อย ดอกไม้มาช่วยกันทำซุ้มประตูที่หน้าบ้าน และประตูวัด เรียกว่า "ประตูป่า" ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ทำเพื่อต้อนรับพระเวสสันดร เพราะชาวล้านนานิยมฟังมหาเวสสันดรชาดก และขณะเดียวกันก็มีความเชื่อว่าหากใครฟังเทศน์จนครบ 13 กัณฑ์ จะเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ "การจุดผางประทีป" ในช่วงพลบค่ำ ชาวล้านนาจะนำกระถางเทียนหรือขี้ผึ้งเรียกว่า "ผางประทีป" จุดเรียงไว้ตามหน้าบ้านหรือตามรั้วเท่ากับอาุยุของคนในบ้าน พร้อ "ลอยกระทงล่องสะเปา" ในยามค่ำคืนชาวล้านนาก็จะเตรียม "สะเปา" บรรจุดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสารอาหารแห้ง ลอยไปตามแม่น้ำ ไม่ก็เตรียมเป็นกระทงลอยเพื่อขอขมา และบูชาแม่พระคงคา "แขวนโคมยี่เป็ง" เนื่องจากการฟังเทศน์ต้องใช้เวลานานตลอดวัน ตลอดคืน ชาวบ้านจึงทำโคมค้าง โคมแขวน โคมหูกระต่าย โคมรังมดส้ม โคมผัด โคมเวียน นำไปประดับตามวัด และ้บ้านเรือน เตรียมกัณฑ์ธรรมหรือกัณฑ์เทศน์ ข้าวตอกดอกไม้ เพื่อโปรยเวลามีขบวนแห่ โปรยเวลาเทศน์มหาชาติกัณฑ์นคร หากใครถวายดอกไม้และข้าวตอกบูชา เกิดมาในภพชาติใดจะเป็นคนมีเสน่ห์ "การปล่อยโคมลอย" การจุดโคมลอยมี 2 แบบคือ "ว่าว" หรือ "โคมลอย" เป็นแบบที่ใช้ปล่อยในตอนกลางวัีนจะเน้นด้วยกระดาษหลากสีสันเพื่อให้เห็นได้เด่นชัดจะใช้การรมควันในการที่ทำให้โคมลอยขึ้นบนท้องฟ้า การจุดโคมลอยที่ปล่อยในตอนกลางวันมักจะนำเงิน สิ่งของ หรือเขียนข้อความว่าผู้ในเก็บโคมนี้ได้ก็นำไปรับรางวัลจากผุ้จุด ส่วนโคมลอยที่ปล่อยในตอนกลางคืน จะเรียกว่า "โคมไฟ" ตัวโคมจะทำด้วยกระดาษสีขาว เพื่อให้เห็นแสงไฟที่ใช้จุดรมไอร้อนเพื่อให้โคมลอยขึ้น ทำให้เห็นเป็นแสงไฟลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าดูสวยงามยิ่งนัก การจุดโคมลอยนี้ตามตำนานกล่าวว่า ทำเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น